พระโพธิญาณเถระ (หลวงพ่อชา สุภัทฺโท)
(๒๔๖๑ – ๒๕๓๕)
วัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
     
 
นามเดิม
 
ชา ช่วงโชติ
 
เกิด
 
วันศุกร์ ที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๑ ตรงกับวันขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเมีย
 
 
บ้านเกิด
 
ณ หมู่บ้านจิกก่อ หมู่ที่ ๙ ตำบลธาตุ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
 
 
บิดามารดา
 
นายมา และนางพิมพ์ ช่วงโชติ
 
พี่น้อง
 
รวม ๑๐ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๕
 
บรรพชา
 
อายุ ๑๓ ปี เดือนมีนาคม พ.ศ.๒๔๗๔ ที่วัดมณีวนาราม โดยมีท่านพระครูวิจิตรธรรมภาณี (พวง)
 
 
เป็นพระอุปัชฌาย์
 
อุปสมบท
 
อายุ ๒๑ ปี เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ณ พัทธสีมาวัดก่อใน โดยมีท่านพระครูอินทรสารคุณ
 
 
เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านพระครูวิรุฬสุตการ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ท่านพระอธิการสวน เป็นพระอนุสาวนาจารย์ได้รับฉายาว่า “สุภทฺโท”
 
เรื่องราวในชีวิต
 
การศึกษาท่านได้เข้าเรียนอักษรสมัย ที่โรงเรียนบ้านก่อ จบชั้น ป.๑ เท่านั้น ท่านได้ออกจากโรงเรียน
 
เพราะมีความสนใจในทางพระพุทธศาสนา ท่านมีความตั้งใจที่จะบวชเป็นสามเณร ขณะที่บวชเป็นสามเณรแล้ว ท่านได้ศึกษานักธรรมชั้นตรี บวชเณรได้ ๓ ปี ก็ต้องลาสึกจากการเป็นสามเณร เพราะมีกิจบางประการ ครั้นสึกออกไปแล้ว ท่านก็ได้อยู่ช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพการงานด้วยดีตลอดมา และอุปสมบทเมื่ออายุครบบวช ที่วัดก่อใน
ต่อมาในพรรษาที่ ๒ ท่านสามารถสอบนักธรรมชั้นตรีได้ แม้จะมีเหตุการณ์บ้านเมืองยุ่งยากลำบากพร้อมทั้งครูผู้สอน และอุปกรณ์การเรียน ท่านก็ไม่ได้ละความพยายามที่จะศึกษาต่อไป ท่านมาหวนคำนึงคำโบราณที่ว่า… “บ่ออกจากบ้าน บ่ฮู้ห่อนทางเที่ยว–บ่เรียนวิชา ห่อนสิ มีความฮู้” ดังนั้น ท่านจึงออกแสวงหาที่ศึกษาเล่าเรียนหลายแห่ง จนสามารถสอบนักธรรมชั้นเอกได้ เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านได้มีความตั้งใจ ที่จะแสวงหาพระอาจารย์ผู้สอน พระกรรมฐานให้พบ! เพราะท่านได้เล่าว่า… “ธรรมะที่เกิดกับจิตใจสมัยโยมบิดาป่วยหนักนั้น เป็นเหตุทำให้ได้พิจารณาถึงธาตุกรรมฐานและเข้าสู่จิตใจแต่บัดนั้น” และยังมีคำห่วงคำเตือนของโยมบิดาที่เคยขอร้องท่านว่า… “อย่าลาสึกนะ อยู่เป็นพระไปอย่างนี้แหละดี สึกออกมามันยุ่งยากลำบาก หาความสบายไม่ได้” ท่านทราบเจตนาดีของโยมบิดา จึงตอบออกไปว่า “ไม่สึก ไม่เสิกหรอก จะสึกไปทำไมกัน” เป็นคำตอบที่โยมบิดาของท่านถึงพึงพอใจมากที่สุด!…
หลังจากนั้นไม่นาน ท่านได้ทราบกิตติศัพท์การปฏิบัติพระกรรมฐานของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต จึงเดินทางไปนมัสการที่วัดปีเหล่อ อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลฯ ท่านได้ฝากตัวปฏิบัติธรรมอยู่ ๑๐ วัน จึงกราบลาเดินธุดงค์ต่อไป ในการออกเดินธุดงค์นี้ ท่านได้ชวนพระถวัลย์ ซึ่งสนิทสนมกันมากไปด้วยองค์หนึ่ง แล้วมุ่งสู่จังหวัดสระบุรี ไปพักปักกลดอยู่ตามป่า เขา และถ้ำเรื่อยไป เร่งบำเพ็ญภาวนาตามสติกำลัง แม้จะไม่มากนัก ก็ถือว่า “มาเพื่อปฏิบัติธรรมและหาครูบาอาจารย์ด้วย” พอเห็นว่าเป็นเวลาสมควร ท่านก็ชวนกันออกเดินทางต่อไป และได้เข้าสู่เขตจังหวัดลพบุรี
ขณะนั้น ก็ได้ทราบข่าวว่ามีสำนักหนึ่งศึกษาพระกรรมฐาน และมีชื่อเสียงมาก ท่านมีชื่อว่าหลวงพ่อเพา พุทธสโร แหล่งปฏิบัติธรรมนั้นอยู่ที่วัดเขาวงกฎ ท่านและพระถวัลย์ ดีใจนักจึงออกเดินทางไป เมื่อมาถึงก็เป็นที่น่าเสียดายเพราะหลวงพ่อเพา ท่านมรณภาพเสียก่อนแล้ว (หลวงพ่อเพาหรือพุงเพาองค์นี้ท่านมรณะด้วยอิริยาบท นั่งภาวนา คือนั่งสมาธิตาย) ท่านก็ได้อุบายธรรม ที่ท่านเขียนไว้ปากถ้ำนั้น เป็นแนวทาง และก็มีท่านพระอาจารย์วรรณ ซึ่งเป็นลูกศิษย์คอยแนะนำสอนแทนท่านเท่านั้น… ขณะปฏิบัติธรรมอยู่ที่เขาวงกฎ ท่านมีความก้าวหน้าทางด้านปฏิบัติมากมาย กับทั้งสิ่งที่ลี้ลับปรากฏอยู่หลายครั้ง ท่านจึงมีความคิดว่า ขอทุ่มเทแก่การประพฤติปฏิบัติให้มากที่สุด หลายครั้งหลายหนที่ต้องต่อสู้กับกิเลสมาร จนแทบเอาตัวไม่รอด ท่านเคยพูดอยู่เสมอๆ ว่า… “ผู้ปฏิบัติธรรม ต้องมีจิตใจที่เข้มแข็ง ถ้าจิตใจไม่มีกำลังจริงๆ หรือไม่มีศีลเป็นพื้นฐานของการภาวนาก็ไปไม่รอด”
ในพรรษาที่ ๘ ท่านได้รับข่าวจากการปฏิบัติธรรมของ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต อีกว่า…มีคุณธรรมสูง ชำนาญด้านวิปัสสนา มีประชาชนเคารพเลื่อมใส และขณะนี้ท่านจำพรรษาที่บ้านหนองผือนาใน จ.สกลนคร ท่านจึงเดินธุดงค์กลับมาทางภาคอีสานอีกครั้งและได้เข้านมัสการ หลวงปู่มั่น,ท่านได้สอบถามพรรษาและสำนักปฏิบัติ ท่านก็ได้กราบเรียนตามความจริงไปทุกประการ หลวงปู่มั่นได้พูดว่า “ดี… ท่านพระอาจารย์เพาก็เป็นพระแท้องค์หนึ่งในประเทศไทย”
ภายหลังจากได้รับอุบายธรรมของหลวงปู่มั่นแล้ว ท่านยังมีความเคารพหลวงปู่กินรี จันทิโย อีกองค์หนึ่งแห่งวัดกัณตะศิลาวาส อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ท่านเป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบองค์หนึ่งแห่งจังหวัดอุบลราชธานี ท่านอยู่ในฐานะศิษย์องค์หนึ่งของ หลวงพ่อเพา หรือ พุงเพา แห่งวัดเขาวงกฎ จ.ลพบุรี และหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต บิดาพระกรรมฐานแห่งยุคท่านมรณภาพแล้วท่านเป็นพระคณาจารย์ที่มีสานุศิษย์มากมาย พร้อมทั้งได้ตั้งสำนักสาขาทั้งในประเทศและในต่างประเทศ ทำให้พระพุทธศาสนาฟุ้งขจร ไปในหมู่ชาวต่างประเทศเป็นอันมาก สามารถชักนำให้ได้เข้ามาบวชในพระบวรพุทธศาสนาจนเป็นพระผู้ปฏิบัติดีเคร่งครัดในพระธรรมวินัยเป็นอย่างยิ่ง
มรณภาพ
 
วันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๓๕
ข้อมูลพิเศษ
 
* เป็นศิษย์ฝ่ายมหานิกายของหลวงปู่มั่น และหลวงปู่กินรี
 
* ท่านมีลูกศิษย์เป็นชาวต่างชาติจำนวนมาก ทั้งๆที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย
ธรรมโอวาท
 
 

“...เราทั้งหลายมักหลงธรรมชาติ อย่างสกลร่างกายนี้ กายของ เรานี้ประกอบขึ้นด้วยดิน น้ำ ไฟ ลม มันก็เป็นธรรมชาติ ที่เรียกว่า วัตถุที่มองเห็นด้วยตา มันอยู่ด้วยอาหารเจริญมา เจริญมา เจริญขึ้น มา แล้วก็แปรไป ถึงที่สุดมันก็ดับไปเช่นกัน...”


“...ตามความเป็นจริงแล้ว โลกที่เราอยู่นี้ไม่มีอะไรทำไมใครเลยไม่มีอะไรจะเป็นที่วิตกวิจารย์เลยไม่มีอะไรที่น่าจะร้องไห้หรือหัวเราะเพราะมันเป็นเรื่องอย่างนั้นธรรมดาๆแต่เราพูดธรรมดาได้ แต่มองไม่เห็นธรรมดาแต่ถ้าเรารู้ธรรมะสม่ำเสมอไม่มีอะไรเป็นอะไรแล้ว มันเกิดมันดับของมันอยู่อย่างนั้นเราก็สงบ…”


“...พระพุทธศาสนาไม่มีอำนาจอะไรเลยแม้ก้อนทองคำก็ไม่มีราคา ถ้าเราไม่มารวมกันว่ามันเป็นโลหะที่ดีมีราคาทองคำมันก็ถูกทิ้งเหมือนก้อนตะกั่วเท่านั้นแหละพระพุทธศาสนาตั้งไว้มีอยู่แต่ถ้าเราไม่ประพฤติปฏิบัติ จะไปมีอำนาจอะไรเล่าอย่างธรรมะเรื่องขันติมีอยู่แต่เราไม่อดทนกันมันจะมีอำนาจอะไรไหม?...”

“...คนที่ไม่รู้จักสุข ไม่รู้จักทุกข์นั้นก็จะเห็นว่า สุขกับทุกข์นั้นมันคนละระดับมันคนละราคากันถ้าผู้รู้ทั้งหลายแล้วท่าน จะเห็นว่าสุขเวทนา กับทุกขเวทนามันมีราคาเท่าๆ กัน...”


“...เมื่อเราเกิดมาแล้วโยม ก็คือเราตายแล้วนั่นเองความแก่กับความตายมันก็คืออันเดียวกันนั่นแหละเหมือนกับต้นไม้ อันหนึ่งต้น อันหนึ่งปลายเมื่อมีโคนมันก็มีปลายเมื่อมีปลายมันก็มีโคนไม่มีโคนปลายก็ไม่มีมีปลายก็ต้องมีโคนมีแต่ปลายโคนไม่มีก็ไม่ได้มันเป็นอย่างนั้น…”


“...อารมณ์นี้ก็เหมือนกับงูเห่าที่มีพิษร้ายนั้นอารมณ์ที่พอใจก็มีพิษมากอารมณ์ที่ไม่พอใจก็มีพิษมากมันทำให้จิตใจของเราไม่เป็นเสรีทำให้จิตใจไขว้เขวจากหลักธรรมของพระพุทธเจ้า…”


“...ธรรมของจริงของแท้ที่ทำให้บุคคลเป็นอริยะได้มิใช่เพียงศึกษาตามตำราและนึกคิดคาดคะเนเอาเท่านั้นแต่จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามนั้นจริงๆของจริงจึงจะเป็นของจริงขึ้นมาได้...”

 

   
   
หน้าหลัก | หน้าก่อน | หน้าต่อไป   
     
     
 
วัดสันติธรรม ต.ช้างเผือก อ.เมือง จังหวัดเชียงใหม่ ๕๐๓๐๐
โทร. ๐๕๓-๒๒๑๗๙๒  ๐๘-๗๑๙๓-๓๑๖๙  ๐๘-๖๑๘๗-๓๙๔๒ และ ๐๘-๑๖๐๒-๗๕๐๐